กรมอนามัย แนะ 4 ร. สกัดโรคมือ เท้า ปาก คุมเข้มศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะใช้ 4 ร. สกัดโรคมือ เท้า ปาก ในโรงเรียน คุมเข้มศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ให้มีมาตรการตรวจคัดกรองเด็กทุกวัน พร้อมให้ผู้ปกครองสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบเด็กมีไข้ หรือมีอาการสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปากให้หยุดเรียนและพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะมีอากาศเย็นและชื้น ทำให้โรคมือ เท้า ปากกลับมาระบาดได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำ และการอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียน หากไม่มีการเฝ้าระวังอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–2 มิถุนายน 2556 พบว่า มีผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 11,678 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในเด็กกลุ่มอายุ 1 ปี รองลงมาคืออายุ 2-3 ปี กรมอนามัย จึงแนะครูพี่เลี้ยง พ่อแม่ หรือผู้ปกครองให้มีมาตรการในการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ด้วยหลัก 4 ร. คือ
1) ร. รักษาความสะอาดสถานที่ บ้าน โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก
2) ร. รักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย
3) ร. รู้ทันสังเกต มีไข้ มีจุด หรือผื่นแดงบริเวณมือ เท้า ปาก
4) ร. รู้ระวัง ไข้สูง หอบเหนื่อย ซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง รีบพบแพทย์ทันที
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าว ควรตรวจคัดกรองเด็กทุกวัน หากพบเด็กมีไข้หรือมีอาการสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้หยุดเรียน และควรดูแลรักษาความสะอาดในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน เน้นการล้างทำความสะอาดสถานที่ ห้องน้ำ ห้องส้วม ของใช้ ของเล่น ภาชนะที่เด็กใช้ร่วมกัน โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือน และหากเป็นสิ่งของเครื่องใช้ของเด็กที่มีการนำเข้าปากให้ล้างด้วยน้ำและสบู่ ล้างออกด้วยน้ำสะอาดและนำไปตากแดดหรือเช็ดให้แห้ง หากมีเด็กป่วยเพิ่มขึ้นให้ปิดห้องเรียนหรือโรงเรียนและจัดการทำความสะอาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ที่สำคัญควรจัดหาอุปกรณ์ให้เด็กได้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังจากขับถ่าย รวมทั้ง ควรจัดเตรียมเครื่องใช้ของเด็กแยกเป็นรายบุคคลไม่ให้ใช้ร่วมกัน
"เนื่องจากโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้ หรือ เอนเทอโรไวรัสหลายชนิด โดยเชื้อจะติดมากับมือหรือของเล่น ที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผล และอุจจาระของผู้ป่วย หรือเกิดจากการไอ จามรดกัน ทุกฝ่ายจึงต้องสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด เด็กจะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 3 - 6 วัน จะมีไข้ เกิดจุดหรือผื่นแดงที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาจมีอาการเจ็บปากน้ำลายไหล ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสบริเวณรอบ ๆ อักเสบแดง และแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน แต่หากพบอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง ซึม ชัก อาเจียนบ่อย หอบเหนื่อย แขน ขาอ่อนแรง ต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
กลุ่มสื่อสารองค์กร / 5 กรกฎาคม 2556